วิธีรีไฟแนนซ์บ้าน สำหรับคนทำงานประจำยังไม่ผ่านโปร จะมีความยากกว่าปกติ เนื่องจากสถานะทางการงาน (ที่หมายถึงเงินผ่อน) ยังไม่มั่นคงเพียงพอ แต่ก็มีเทคนิคมาแนะนำ เพื่อให้รีไฟแนนซ์ได้ เพราะคนเขียน ก็พึ่งเปลี่ยนงาน และ ยังไม่ผ่านโปร แต่ก็ผ่อนบ้านครบ 3 ปี เพื่อรีไฟแนนซ์ได้พอดี ก็เลยมาถ่ายทอดกันดีกว่า
วิธีรีไฟแนนซ์บ้าน
- ตรวจสอบว่า เราผ่อนกับธนาคารเดิม ครบ หรือนานกว่า 3 ปี เพื่อป้องกันเบี้ย ค่าปรับ ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น
- ติดต่อหลายๆ ธนาคารพร้อมกัน ว่าเราจะทำการรีไฟแนนซ์ ต้องเตรียมเอกสารอย่างไรบ้าง แนะนำ 4 ธนาคาร น่าจะพอ เลือกที่ได้ดอกเบี้ยที่ดีที่สุด
- เตรียมเอกสาร แยกเป็นรายธนาคาร ให้ครบ ตามที่ธนาคารต้องการ
- ไปยื่นเอกสาร วันเดียวกัน ทุกๆธนาคาร พร้อมกัน
เพียงแค่นี้ โอกาสที่จะได้จะสูงขึ้นมาก แต่ก็มีเทคนิคเพิ่มเติม ในการกรอกเอกสาร เพราะว่า บางธนาคาร จะกรอกไม่เหมือนกัน
เทคนิคการกรอกเอกสาร เพื่อรีไฟแนนซ์
- อายุงาน ตรงนี้ บางธนาคารจะถามอายุงานที่เก่าด้วย ก็ใส่เข้าไปตามจริง ทั้งที่เก่าที่ใหม่ (ไม่ควรโกหก เพราะตรวจสอบได้)
- เบอร์โทรบริษัท เตรียมเบอร์ 02 ของ HR เอาไว้เลย พยายามหาให้ได้ เพราะเค้าจะโทรมาเช็ค (ของคนเขียนไม่มีจริงๆ มีแต่เบอร์มือถือ ก็ผ่านมาได้)
- ขอหนังสือรับรองเงินเดือนเอาไว้เลย เท่ากับจำนวนธนาคารที่ต้องการยื่น จะได้เสียเวลาทีเดียว
- เก็บใบเสร็จที่ใช้ผ่อนบ้านเอาไว้ให้ดี ทุกๆเดือน
การเตรียมตัวก่อนการรีไฟแนนซ์
เรื่องนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรเตรียมตัวมาก่อนเนิ่นๆ ใครทำได้ดีกว่า ย่อมมีผลต่อ credit ได้ดีกว่ามาก
- ผ่อนจ่าย ทุกอย่าง ให้เต็มจำนวน ตรงตามกำหนดเวลา ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต เงินกู้ บ้าน รถ ข้อนี้สำคัญมากที่สุด ก็คือ เราต้องเป็นคนที่เครดิตดีต่อเนื่อง อย่างคนเขียน ไม่เคยพลาดเลยแม้แต่เดือนเดียว ตลอดระยะเวลาการกู้มา
- พยายามจ่ายเงินกู้ บัตรเครดิต ทุกอย่างเต็มยอดที่ใช้ อย่าจ่ายขั้นต่ำ
- บัญชีรับเงินเดือน ควรมีเงินเหลือติดเอาไว้ ไม่ใช่เข้ามาเท่าไรออกจนต่ำกว่า 100 บาทตลอด เหลือให้เยอะที่สุด รวมจากทุกบัญชีมาพักเอาไว้เลย
- พยายามปิดหนี้ให้ได้มากที่สุด เพราะเค้าจะเห็นว่าเรามีความสามารถในการจัดการหนี้ได้ (และหมายถึงภาระเราต่ำลง)
- เก็บเงินเอาไว้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างการ refinance ซึ่งแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน คนเขียนแนะนำว่า 1.5% ของวงเงินที่กู้ เช่น กู้ 1 ล้าน เตรียมไว้ 15,000 บาท เพราะบางธนาคารเราต้องจ่ายค่าจดจำนอง(1%) และค่าธรรมเนียมกรมที่ดิน (ประมาณ 500 บาท) เอง เหลือๆไว้ดีกว่าขาด แต่ถ้าคนที่ต้องทำประกันภัยคุ้มครองสินเชื่อด้วย อันนี้คุยให้ชัด ว่าต้องจ่ายเงินทำประกันเอง หรือ เพิ่มเข้าไปในวงเงินกู้ได้เลย เพราะยอดตรงนี้ อีกเยอะเลย
เทคนิคการเลือกธนาคารเพื่อรีไฟแนนซ์
ไม่จำเป็นต้องเลือกธนาคารเบอร์ต้นๆของประเทศไทยก็ได้ เพราะจากที่รีไฟแนนซ์มาแล้วพบว่า ธนาคารเบอร์ต้นๆของประเทศไทย ก็ปฏิเสธการประเมินสินเชื่อตั้งแต่ตอนส่งเอกสารเสร็จเลย (ไม่ใช่ว่าตรวจแล้วไม่ผ่านนะ แต่ยังไม่เข้าขั้นตอนการประเมินสินเชื่อเลย ด้วยเหตุผลว่า ต้องการเอกสารเพิ่มเติม ที่ไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากเป็นเอกสารภายในบริษัท) ก็ไม่แคร์ เพราะได้อีกธนาคารที่ให้เรทเท่ากัน และใช้เวลาสั้นกว่า การบริการดีกว่า น่ารักกว่ามาก น้อง sale ที่ทำงานติดต่อให้ข้อมูลต่อเนื่อง สุภาพ ดีเยี่ยม ก็ทำเอาเปลี่ยนมุมมองต่อธนาคารไปเหมือนกัน และธนาคารที่ไม่ใช่เบอร์ต้นๆ ก็มี rate ที่ดีไม่น้อยหน้าธนาคารใหญ่ๆเลย เพราะเค้าก็ต้องการลูกค้าเพิ่มเหมือนกัน
ทำไมเราควรรีไฟแนนซ์
โดยทั่วไป การรีไฟแนนซ์ จะมีประโยชน์หลักที่คนผ่อนมองหา 2 เรื่อง
- ดอกเบี้ยที่ต่ำลง หมายความว่าถ้าเรายังผ่อนบ้านเท่าเดิม แต่หนี้บ้านเราจะหมดเร็วขึ้น
- ผ่อนจ่ายต่อเดือนต่ำลง หมายความว่า เราจ่ายเงินให้ธนาคารต่อเดือนน้อยลง
หรือหลายคน ก็ได้ทั้งสองหัวข้อเลย คือได้ดอกที่ต่ำลงด้วย และได้ผ่อนต่อเดือนที่ต่ำลงด้วย ก็ถือว่าสุดยอด
รีไฟแนนซ์บ่อยๆดีมั้ย
โดยปกติ เค้าจะมีสัญญาว่าถ้าเราจ่ายเงินปิดสัญญาภายใน 3 ปี เราต้องจ่ายค่าปรับนู่นนี่นั่น โดยปกติเลยไม่นิยมทำกันก่อนครบ 3 ปี แต่การรีไฟแนนซ์ ก็ไม่ใช่คำตอบเสมอไป ในการลดค่าผ่อนต่อเดือน หรือ ลดดอกเบี้ยลง แนะนำวิธีการต่อรองกับธนาคารปัจจุบันมากกว่า
อย่างกรณีที่พึ่งลองทำมา ก็คือ ติดต่อธนาคารที่เราผ่อนก่อน เพื่อขอลดดอกเบี้ยเงินกู้ ดูว่าเค้าจะพิจารณาให้เราได้เท่าไร ซึ่งจากตอนที่ผ่อนอยู่คือ 5.5% ขอแล้ว รอบแรก ได้ 4.5% ขออีกที ก็ยังยืนยันว่า 4.5% เท่าเดิม ในขณะที่ธนาคารอื่นๆ กู้กันให้ 2.75 – 2.99% แบบนี้ ถ้าเราเป็นหนี้ 1 ล้านบาท เราต้องจ่ายดอกต่างกันปีละ 15,000 บาท อย่างน้อย ถ้าหลายล้านก็คูณเข้าไป ดังนั้น แม้ว่าการรีไฟแนนซ์ถึงจะมีค่าใช้จ่ายตอนรีไฟแนนซ์ก็ตาม แต่ว่า ส่วนต่างที่เกิดขึ้น ไม่กี่เดือน ก็อาจจะมากกว่าค่าใช้จ่ายตอนรีไฟแนนซ์แล้วก็ได้ เรื่องนี้ก็อาจจะต้องเอามาพิจารณาด้วย
หลักการพิจารณาธนาคารเพื่อรีไฟแนนซ์
- อัตราดอกเบี้ยเท่าไร และเป็นแบบไหน (ลอยตัวหรือ คงที่) บางที่ให้ดอกต่ำ แต่ลอยตัว แปลว่าถ้าดอกเบี้ยนโยบายแพงขึ้น เราก็ต้องจ่ายดอกเพิ่มขึ้นด้วย
- เฉลี่ยดอกเบี้ย 3 ปีแรก คือเท่าไร บางที่ให้ดอกต่ำมาก แต่แค่ปีเดียว ดังนัน ต้องดูเฉลี่ย 3 ปีเลย ยังไงเราก็ไม่เปลี่ยนธนาคารก่อนครบ 3 ปีอยู่แล้ว
- บังคับทำประกันหรือไม่ ถ้าบังคับเราสามารถกู้เพิ่มตอนรีไฟแนนซ์เพื่อซื้อประกันได้หรือไม่ (ต้องเจรจา เพราะนโยบายแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน และต้องอ่านสัญญาอะไรให้ชัดเจนด้วย เพราะเจอกรณีเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ต้องทำประกันจ่ายค่าทำประกัน แต่ว่ามาเฉลยทีหลังว่า มีการกู้เพิ่มเพื่อการซื้อประกันในวงเงินกู้ไปแล้ว) แต่ถ้าต้องทำประกัน ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเราสามารถไปเวนคืนกรมธรรมจากธนาคารเดิมได้ เพื่อให้ได้เงินส่วนนี้กลับมา
- ค่าใช้จ่ายจดจำนองใครออก
- ต้องจ่ายค่าประเมินทรัพย์สินหรือไม่
- กู้เพิ่มเติมได้หรือไม่ (กู้เพื่อขอเงินส่วนต่างเพิ่มอีก) ถ้าได้ ดอกเบี้ยส่วนนี้เป็นอย่างไร (เพราะจะแพงกว่าวงเงินกู้ซื้อบ้าน)
เทคนิคการผ่อนบ้านให้หมดเร็ว
วิธีการผ่อนบ้าน ให้หมดเร็ว ไม่ยาก มีแค่ 4 ขั้นตอนเท่านั้น ลองอ่าน วิธีการผ่อนบ้าน ให้หมดเร็ว